ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนเพื่ออะไรกันแน่

ภาพงดงามบนฝาผนังวัดพระแก้วเป็นเรื่องราวรามเกียรติ์ระหว่างพระราม และทศกัณฑ์ บ้างก็ว่าจิตรกรรมในวัดเปรียบดั่งคำสอนระหว่างธรรมะกับอธรรม แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่านั่นคือจิตรกรรมที่สะท้อนถึงกิจวัตร ขนบธรรมเนียม ประเพณีของราชสำนักสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่คนรุ่นเก่าบันทึกไว้เป็นภาพวาด จากความหมายของภาพอันมีเรื่องราวพระรามเป็นหลัก หมายถึง “เกียรติของพระราม” สอดคล้องกับเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ซึ่งคนรุ่นเก่าถ่ายทอดเป็นภาพวาดอันวิจิตรตระการตา

ความเข้าใจของภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์วัดพระแก้ว

จิตรกรรมวาดภาพไร้จุดเริ่มต้น และเรื่องราวที่สัมพันธ์กัน เพราะจุดเริ่มต้นของรามเกียรติ์ คือ ยักษ์นนทก และพระนารายณ์บนสรวงสวรรค์เกิดเป็นทศกัณฑ์และพระราม ต้องเป็นภาพแรกเริ่มในฝาผนังแต่กลับวาดไว้ในผนังที่ซุ้มประตูต่างๆ ซึ่งไม่โดดเด่น และไม่สัมพันธ์เชื่อมกับส่วนอื่นๆ หรือภาพกำเนิดนางสีดาวาดที่ผนังระเบียงคด แต่กลับเป็นภาพของ “พระราม” ในราชสำนักมากกว่า

  1. ภาพจิตรกรรมไม่ได้เน้นประเด็นหลักในเนื้อเรื่อง จากการวางโครงภาพตำแหน่งศูนย์กลางขนาดใหญ่ หรือวางตำแหน่งของภาพให้อยู่ในระดับสายตาที่มองเห็นชัดกว่า หมายถึงการให้ความสำคัญของส่วนประกอบต่างกันในแต่ละตอนส่วนใหญ่ภาพที่โดดเด่นที่สุดคือ ชีวิตในพระราชวัง แสดงกิจกรรมต่างๆ ของกษัตริย์ เช่น วางแผนการรบ ปรึกษากับเหล่าเสนา ถูกจัดให้อยู่ศูนย์กลางของภาพที่หยิบยกให้เด่นชัดกว่าเนื้อเรื่องสำคัญของวรรณคดี สังเกตได้จากตอนที่พญาขร (พี่ชายของสำมนักขา) แสดงอิทธิฤทธิ์การต่อสู้กับพระรามกลับเป็นภาพขนาดเล็กและมองไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับรูปขบวนรถทรงยังดูเด่นกว่าการสู้รบเสียอีก ทำให้เห็นว่าภาพเล่าเรื่องของพระมหากษัตริย์ไทย อันเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะสมมติเทพโดยการเปรียบว่าเป็นพระราม จากภาพที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ถ่ายทอดเรื่องราวอิริยาบถของผู้คนชีวิตในราชสำนัก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างภารกิจรบ ปราบยักษ์ สงครามแต่อย่างใด
  2. รามเกียรติ์สะท้อนสังคมจริง และสังคมอุดมคติ สังเกตจากภาพไม่แสดงถึงการรบในสงครามแต่เน้นการจำลองชีวิตในราชสำนัก เพื่อยกย่องพระรามคือ เทวราชา หรือสมมติเทพ พระรามคือกษัตริย์รัตนโกสินทร์สืบต่อจากอโยธยา ดูจากศิลปินวาดภาพพระราชวัง ป้อมปราการ ยอดปราสาท คล้ายคลึงกับกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพซุ้มประตูเขียนว่ากรุงศรีอยุธยา และปรากฏรูปธงสีแดงรูปช้าง (ที่เคยเป็นธงชาติไทยมาก่อน) ประกอบกับภาพจำลองพระราชพิธีต่างๆ ที่วาดอย่างงดงามตกแต่งรายละเอียดแบบปิดทองดูโดดเด่นที่สุด เช่น พระราชพิธีอภิเษกสมรส การประลองกำลังยกศร การปลงพระศพ การเฉลิมฉลอง การประกอบพระเมรุมาศ ขบวนเสด็จที่เขียนรายละเอียดแบบพิธีจริง ทั้งหมดคือ พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ ที่จิตรกรตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวภายในราชสำนักมากกว่าความสำคัญของเรื่องด้านการสู้รบ อภินิหาร อิทธิฤทธิ์ที่เป็นประเด็นหลักในวรรณคดี