จิตรกรรมบนฝาผนังในพระวิหารของวัดโพธิ์

จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ที่มีอายุภาพวาดเกือบ 200 ปี หากได้เข้าไปชมพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนวัดโพธิ์ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ก็ต้องไม่พลาดชมวิจิตรศิลป์ตระการบนฝาผนังในพระวิหารอันมีเอกลักษณ์สะท้อนถึงวิถีชีวิต ชาวสยามในยุคซึ่งเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม หากมองแล้วจะพบว่าเป็นศิลปะการวาดผสมผสานศิลปะแบบจีน นับเป็นจิตรกรรมอันล้ำค่าตั้งแต่ช่างศิลป์ในสมัยรัชกาลที่ 3 บรรจงวาดไว้
ความงดงามของจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารวัดโพธิ์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามตามประวัติสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาแต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้าง เดิมเรียกว่า “วัดโพธาราม” หรือ “วัดโพธิ์” ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ในปี พ.ศ.2531 โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” เป็นวัดประจำรัชกาลที่1 กระทั่งในปี พ.ศ.2375 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรวาดภาพ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธศาสนา จิตรกรรมแบ่งออกเป็นเรื่องๆ คือ
- ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเรียกว่า “ห้อง” มี 32 ห้องเขียนภาพเรื่อง เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา เรื่อง พระสาวิกาเอตทัคคะ (ภิกษุณี) 13 องค์ อุบาสกเอตทัคคะ 10 ท่าน และอุบาสิกาเอตทัคคะ 10 ท่าน
- ผนังบนบานประตู และหน้าต่าง เขียนเรื่องมหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีป คือ ประวัติราชวงศ์และพระพุทธศาสนาในลังกาที่สื่อว่าไทยได้รับพุทธศาสนามาจากราชวงศ์ศรีลังกา
- คอสองหรือบนคานเหนือเสา เป็นเรื่องราวของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
- บานประตูด้านนอกเขียนลายน้ำรดน้ำลายผูกอาวุธ เป็นภาพเครื่องศัตราวุธโบราณ ด้านในสีน้ำมันพื้นสีแดงเป็นรูปพระยานาคราช
- บานหน้าต่าง ด้านนอกเขียนลายรดน้ำ เป็นภาพเครื่องศาสตราวุธโบราณ ด้านในเขียนภาพสีน้ำมันลายดอกพุดตานก้านแย่ง
- พื้นที่ส่วนบนและส่วนล่างของบานประตูและบานหน้าต่างด้านนอก เป็นภาพเบ็ดเตล็ด ตอนบนส่วนหนึ่งเป็นภาพตำราดาว คือ กลุ่มดาวนักษัตรประจำเดือนทางสุริยคติ (เหมือนกับภาพเขียนในหอไตรสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) ภาพนิทานชาดกและวรรณคดีไทย เช่นเดียวกับตอนล่าง เรื่อง รามเกียรติ์พระสุธน-มโนรา พระลอ ไกรทอง กากี และเรื่องในคัมภีร์มหาวงศ์ บางตอน ฯลฯ
ความงดงามวิจิตรตระการตาของเรื่องราวบนฝาผนังนอกจากบอกถึงพุทธประวัติ สอนธรรมมะแล้ว ยังสอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพบ้านเรือน สถาปัตยกรรมต่างๆ ในสมัยอดีต ทั้งยังสะท้อนเจตคติที่ดีเพื่อให้คนดูเป็นแบบอย่างโดยให้ภาพเป็นสื่อ แม้จะผ่านมาถึง 200 ปีแต่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ให้กับชาวไทยได้ภาคภูมิใจ ถือได้ว่าเป็นมรดกศิลป์ชิ้นยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยและรุ่นต่อไป